ลงทะเบียนโซลาร์ภาคประชาชน ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ใครอยากขายไฟบ้าง? 

เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 กับการลงทะเบียนโซลาร์รูฟท๊อปออนไลน์ภาพประชาชนซึ่งถึงแม้จะต่ำกว่าเป้าที่คาดหวังไว้ แต่เชื่อว่าเมื่อมีการสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งแผงพลังงานบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท๊อป จะช่วยคลายความสงสัยของประชาชนได้ดี และน่าจะตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยทางรัฐตั้งเป้าไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ หรือ 1 แสนกิโลวัตต์

ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ แนะประชาชนผู้ที่สนใจ "ควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ และความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น" ลักษณะของครัวเรือนที่มีโอกาสคืนทุนเร็ว จะเป็นกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันที่มาก เช่น กลุ่มที่มีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกัน จะช่วยประหยัดค่าไฟที่ต้องจ่ายไปประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย หรือประมาณ 1,000-3,000 บาทต่อเดือนแล้วแต่การใช้งาน แต่หากตั้งใจจะติดตั้งเพื่อขายไฟเข้าระบบเพียงอย่างเดียว จะต้องใช้เวลาคืนทุนที่นานกว่า เพราะราคารับซื้อกำหนดไว้ต่ำที่ไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐที่ช่วยลดต้นทุนในติดตั้งโซลาร์เซลล์และเร่งระยะการคืนทุนได้ในระดับหนึ่งสำหรับกลุ่มที่ต้องการขายพลังงาน 

 

สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการ
ใครมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการบ้าง?

1. บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าโดยดูจากที่ระบุชื่อในใบแจ้งค่าใช้ไฟฟ้า

2. ผู้เข้าร่วมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท๊อป โดยเน้น Self-consumption หรือผลิตไฟฟ้าใช้เองเพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า

3. ติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ต่อครัวเรือน โดยกระแสไฟฟ้าที่เหลือจากการผลิตสามารถขายคืนในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยเป็นระยะเวลา 10 ปี

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานชี้ให้เห็นกรณีตัวอย่าง ในกรณีของครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 8 กิโลวัตต์ จะใช้เงินลงทุนแผงเซลล์และระบบอยู่ที่ประมาณ 240,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนดิจิทัลมิเตอร์เพื่อเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับ กฟภ. 8,500 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม  7%) ผลิตไฟฟ้าได้ 11,912 หน่วยต่อปี โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบอย่างเดียว ไม่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน จะมีรายได้จากการขายไฟ ประมาณ 20,012 บาทต่อปี (1,677 บาทต่อเดือน) ใช้เวลาประมาณ 12 ปี จึงจะคืนทุน แต่หากบ้านดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าเองทั้ง 100% ในช่วงกลางวัน จะใช้เวลาคืนทุนเร็วขึ้นประมาณ 6 ปี  แต่หากผลิตใช้เอง 50% และขายส่วนเกินเข้าระบบ 50% จะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 7.5 ปี แต่โดยเฉลี่ยทั่วไปบ้านนึงอาจติดเพียง 4-5 กิโลวัตต์ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว

สำหรับแนวโน้มว่าสิ้นปีนี้จะสามารถดึงดูดประชาชนให้เข้าร่วมโครงการได้ถึง 1 เมกะวัตต์หรือไม่นั่นอาจจะยังต้องดูต่อไป ด้วยข้อจำกัดที่ยังบอกไม่ได้หลายอย่าง เช่น ปัจจัยความแข็งแรงของหลังคาบ้าน การลงทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทางกกพ.จะทยอยประกาศผู้ที่ได้รับอนุมัติผ่านการพิจารณาโครงการโซลาร์ภาพประชาชนทางเว็บไซต์ และส่งอีเมลล์แจ้งไปยังผู้สมัครเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป